สวัสดีครับ ถ้านึกถึงการถ่ายรูปที่แปลกไปจากที่ตาเห็น รับรองว่าการถ่ายไฟวิ่งเป็นเส้นต้องเป็นอันดับต้นๆ ที่เรานึกถึงแน่นอน เพราะนั่นคือภาพสวยๆ ที่เราไม่ได้เห็นได้ด้วยตาเปล่า และเหมือนจะใช้เทคนิคขั้นสูงมากมาย ดูยากเหลือเกิน
แล้วมันยากจริงๆ เหรอ? ผมบอกไว้ตรงนี้เลยว่า ถ้าทำตามเงื่อนไขเล็กๆ ของการถ่ายไฟได้ ถ่ายไฟง่ายนิดเดียว!
เอาล่ะ… ก่อนอื่นเรามีดูส่วนอุปกรณ์ที่ต้องมีก่อน
อุปกรณ์ที่ใช้
- กล้องถ่ายรูป ที่ตั้งค่าชัตเตอร์สปีดได้
- ขาตั้งกล้อง
- รีโมท หรือสายลั่นชัตเตอร์ หรือกล้องที่ตั้งหน่วงเวลาชัตเตอร์ได้
สำหรับขาตั้งกล้อง ถ้าเราไม่มีเรายังใช้วิธีการวางกล้องไว้นิ่งๆ บนที่ใดสักที่ก็ได้ แต่สำหรับการถ่ายไฟเป็นเส้นนั้นเรานิยมถ่ายจากด้านบนลงมาถนนด้านล่าง ถ้าไม่มีขาตั้งกล้องผมว่าคงลำบากไม่น้อย
และรีโมทหรือสายลั่นชัตเตอร์ การมีพวกนี้จะทำให้ถ่ายง่ายขึ้น แต่ถ้าไม่มี ใช้วิธีหน่วงเวลาชัตเตอร์(ที่กดชัตเตอร์แล้วกล้องนับถอยหลังก่อนถ่าย) แทนกันก็ได้
สำหรับกล้องเปลี่ยนเลนส์ได้ งานนี้เราไม่จำเป็นต้องใช้ของแพง แค่เลนส์ Kit ที่ติดมากับกล้องก็ถ่ายได้แล้วครับ งบน้อยแค่ไหนก็ถ่ายได้ 😀
สำคัญจริงๆ คือกล้องที่ตั้งชัตเตอร์สปีดได้ ขอขั้นต่ำที่ 1 วินาทีนะครับ เพราะปกติเราลากสปีดกันหลายวินาทีเลยล่ะ(ส่วนใหญ่ผมจะใช้ที่ประมาณ 1-10 วินาที)
ลากสปีดมากๆ ก็ไม่ได้ดีเสมอไปนะ อย่างภาพนี้…
เริ่มถ่ายจริง
สิ่งที่เราต้องทำก็คือ
- เลือกถ่ายในเวลากลางคืน เพราะถ้าเราลากชัตเตอร์ช่วงแสงมากๆ อย่างตอนกลางวัน…เราจะได้ภาพที่ขาวจนมองอะไรไม่ออกแน่ๆ(แต่ถ้าใช้ฟิลเตอร์ ND ก็ถ่ายได้)
- ตั้งกล้องกับขาตั้งกล้อง หรือพื้นที่ที่ตั้งกล้องไว้นิ่งๆ ได้ และล็อคมุมที่ต้องการใช้เรียบร้อย
- เปิดการใช้รีโมทหรือสายลั่นชัตเตอร์ หากไม่มีทั้งคู่ให้ตั้งชัตเตอร์แบบหน่วงเวลา 2 วินาที ใช้แทนกันได้เหมือนกัน
- หากกล้องใช้ AF ไม่ได้เพราะมืดเกินไป ให้ปรับระบบโฟกัสเป็น MF(โฟกัสด้วยมือ) และตั้งโฟกัสด้วยตัวเอง(ปกติถ้าถ่ายไฟเป็นเส้น ตั้งโฟกัส Infinity มักได้ระยะโฟกัสที่พอดี)
- ใช้ Mode S หรือ Mode M เพื่อที่จะตั้งชัตเตอร์สปีดได้
- เบื้องต้น แนะนำให้ตั้งค่ากล้องด้วย F/8 และ ISO 100 หรือ ISO ต่ำสุดที่กล้องใช้ได้ แต่ถ้าไม่คุ้นเคยกับการตั้งค่ากล้องเอง ใช้ Mode S แล้วปล่อยรูรับแสงกับ ISO ไปก็ได้
- ปรับชัตเตอร์สปีดของกล้องไปที่ประมาณ 1-4 วินาที และลองถ่ายดูก่อน ถ้าเส้นไฟสั้นไปให้ลากชัตเตอร์สปีดเพิ่มไปอีก(เช่น 1 วินาทีเพิ่มเป็น 2 วินาที)
ถ้าเราไม่มีขากล้อง ไม่ได้ถ่ายบนที่สูงๆ เราจะได้ภาพแบนๆ แบบนี้แหละ 😂
Tips เล็กๆ ของการลากไฟ
- ชัตเตอร์สปีด มีผลต่อความยาวของเส้นไฟ ยิ่งเปิดชัตเตอร์นาน เส้นไฟจะยาวขึ้น ภาพสว่างขึ้น(ถ้าลากสปีดจนภาพสว่างเกิน ต้องเลือกว่าจะเพิ่มสปีด ทำรูรับแสงให้แคบลง หรือจะลด ISO)
- F-stop หรือรูรับแสง ผมนิยมเปิดที่ F/8-11 เพื่อความคมชัด และหลายๆ ครั้งเราจะได้ไฟแฉกจากถนนด้วย สวยดี 😀
- ผมมักใช้ ISO 100 ในการถ่ายครั้งแรก แล้วค่อยๆ เพิ่มถ้าภาพสว่างน้อยเกินไป(แต่เพิ่มชัตเตอร์สปีดให้พอใจก่อนค่อยเพิ่ม ISO)
ส่วนใครที่ปรับตั้งค่าไม่คล่อง ตั้ง Auto ISO แล้วปรับจากชดเชยแสงก็ได้ - ขากล้อง ไม่ต้องมีก็ได้ แต่ถ้าใช้ขากล้องจะเลือกจุดถ่ายง่ายขึ้นมาก
- ถ้าถ่ายบนพื้นนิ่งๆ แต่ภาพสั่น ลองปิดกันสั่นในกล้องหรือในเลนส์ดู…อาการสั่นจะหายไป
ยิ่งลากชัตเตอร์นาน ความยาวของเส้นไฟก็จะยาวขึ้นด้วย
และเห็นกันรึเปล่า ด้วยรูรับแสงแคบๆ อย่าง F/8-11 ทำให้เราได้ไฟแฉกสวยๆ ด้วยนะ
แบบเนี้ย… ผมลืมปิดกันสั่น ภาพที่ได้มันก็จะสั่นๆ หน่อย 😅
ส่วนภาพนี้ถ่ายบนสะพานลอย สะพานลอยสั่น เส้นก็เลยสั่นๆ นิดหน่อย
สรุป
ง่ายนิดเดียวใช่มั้ยล่ะ 🙂
สิ่งที่เราต้องทำจริงๆ มีแค่ตั้งกล้องนิ่งๆ และปรับชัตเตอร์สปีดให้เปิด 1 วินาทีขึ้นไปเท่านั้นเอง เราก็ได้ภาพไฟลากเป็นเส้นๆ แล้ว
และเมื่อเราเข้าใจเรื่องนี้ เรายังเอาไปประยุกต์ในการถ่ายภาพแบบวาดไฟเป็นเส้น ถ่ายพลุ ได้อีกด้วยนะ
และเหนือสิ่งอื่นใด ถ้าถ่ายแล้วสนุก เราก็อยากได้ถ่ายกันเยอะๆ 😉