กล้องตัวคูณคืออะไร และอะไรคือ Crop factor

“กล้อง Full Frame ละลายหลังดีกว่าตัวคูณ”

“ใช้กล้องตัวคูณ ใช้เลนส์อะไรต้องเอามา x1.5 ก่อน”

“กล้องเซ็นเซอร์ใหญ่ๆ ดีกว่า”

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของ “ขนาดเซ็นเซอร์รับภาพ” ครับ

วันนี้เราจะมาคุยเรื่องขนาดของเซ็นเซอร์รับภาพในกล้อง ที่เป็นต้นเหตุของตัวคูณ เป็นตัวแปรของการละลายหลัง และมันมีผลกับขนาด น้ำหนักของเลนส์กล้องด้วย

เซ็นเซอร์รับภาพ ขนาดไม่เท่ากัน?

เซ็นเซอร์รับภาพของกล้องดิจิตอลนั้นมีหลายขนาด โดยในยุคของกล้องดิจิตอลนั้นจะใช้กล้อง Full Frame ที่ขนาดเซ็นเซอร์ 36×24มม. หรือเท่ากับฟิล์ม 35mm ในยุคของกล้อง SLR นั่นเอง และมีกล้องอื่นๆ ที่ใช้เซ็นเซอร์รับภาพเล็กลงเรื่อยๆ ตามลำดับ

สำหรับอัตราส่วนของขนาดเซ็นเซอร์รับภาพก็ตามภาพด้านล่างเลยครับ

ตัวอย่างกล้องเปลี่ยนเลนส์ที่ใช้เซ็นเซอร์รับภาพขนาดต่างๆ (ในวงเล็บคือตัวอย่างรุ่นกล้อง)

Full Frame

  • Canon EOS ทุกรุ่นที่เป็นเลขหลักเดียว(5D III) ยกเว้น 7D
  • Nikon FX รุ่นเลข 3 หลัก(D850)
  • Sony A99 และ A7 ทุกรุ่น

APS-C

  • Canon ทุกรุ่นที่ไม่ใช่เลขหลักเดียว(750D)
  • Nikon DX รุ่นเลข 4 หลัก(D7500)
  • Sony ทุกรุ่นที่ไม่ใช่ A99 หรือ A7(A65 , a6300 , Nex-6)
  • Samsung NX ทุกรุ่น

M4/3

  • กล้อง Mirrorless ของ Olympus และ Panasonic ทุกรุ่น และ Xiaoyi Yi M1

1″

  • กล้อง Nikon1 ทุกรุ่น(Nikon1 J5)
  • Samsung NX mini

1/1.7″ และ 1/2.3″

  • กล้อง Mirrorless Pentax-Q ทุกรุ่น

ส่วนกล้องคอมแพคนั้นจะประมาณนี้

  • Full Frame : Sony RX1
  • APS-C : Canon G7X และ Fujifilm X100
  • M4/3 : Panasonic LX100
  • 1″ : Sony RX100

Crop factor คืออะไร?

จากเนื้อหาด้านบนจะเห็นว่ากล้องแต่ละชนิดมีขนาดของเซ็นเซอร์รับภาพที่ไม่เท่ากัน ซึ่งขนาดของเซ็นเซอร์ที่ต่างกันมีผลต่อภาพที่ได้ด้วย

กล้องที่มีขนาดของเซ็นเซอร์รับภาพเล็กกว่านั้น หากเทียบกับกล้องที่มีเซ็นเซอร์รับภาพใหญ่ จะได้ภาพที่เหมือนตัดขอบออกไป ตัวอย่างเช่นภาพด้านล่างนี้

จากภาพ จะเห็นได้ว่ากล้องเซ็นเซอร์เล็กนั้นจะได้ภาพเสมือนกล้องเซ็นเซอร์ใหญ่ที่ถูกตัดขอบออกไป เป็นที่มาของการเรียกคำว่ากล้อง Crop sensor

ส่วนคำว่า Crop factor คือค่าที่เอาไว้เทียบความกว้างของภาพบนกล้อง 2 ตัวที่มีขนาดเซ็นเซอร์รับภาพไม่เท่ากันนั่นเอง

โดยระบบตัวคูณ(Crop factor) ได้มีการใช้ตัวแปรเพื่อเทียบค่ากันเทียบร้อยแล้ว โดยใช้กล้อง Full Frame เป็นค่าตั้งต้น และให้กล้องอื่นๆ คูณค่าด้านล่างเพื่อเทียบว่า หากกล้อง Full Frame ใช้เลนส์ระยะนี้ จะต้องใช้เลนส์ระยะไหนบนกล้องอื่นเพื่อให้ได้ภาพที่กว้างพอๆ กัน

โดยแทนค่าตามนี้

x1.0 = Full Frame
x1.5 = APS-C (Sony , Nikon , Fuji , Pentax)
x1.6 = APS-C (Canon)
x2.0 = M4/3 (Olympus , Panasonic , Xiaoyi Yi M1)
x2.7 = Nikon1 , Samsung NX mini
x4.7 = Pentax Q7 , Pentax Q-S1
x5.6 = Pentax Q , Pentax Q10

การเทียบระยะเลนส์ทำได้ 2 แบบ จะเอาเลนส์ Full Frame มาตั้งแล้วหาร Crop factor ก็ได้
หรือจะเอาเลนส์ของกล้องเซ็นเซอร์เล็กมาตั้ง แล้วคูณด้วย Crop factor ก็ได้เช่นกัน

ตัวอย่างเช่น หากกล้อง Full Frame ใช้เลนส์ทางยาวโฟกัส 50mm
อยากรู้ว่ากล้องอื่นใช้เท่าไร เอาเลข mm นี่ไปหาร Crop factor เลยครับ
ถ้าใช้ APS-C ทั่วไป ก็ใช้ตัว x1.5 นี่มาคำนวน ก็จะได้ 50 / 1.5 = 33.3 นั่นเอง

พอได้เลข 33.3 มาแล้ว ก็ลองมาหาว่ากล้อง APS-C มีเลนส์อะไรที่ระยะใกล้เคียงกับ 50mm บ้าง
ลองดูดีๆ จะเห็นว่ากล้อง APS-C มักจะมีเลนส์ระยะ 35mm มาให้เลือกใช้ ซึ่งพอลองเอา 35mm x1.5 จะได้ 52.5mm บนกล้อง Full Frame

ซึ่งคงไม่มีเลนส์อะไรใกล้เคียงกับ 50mm(Full Frame) มากกว่าเลนส์ 35mm แล้ว เราก็จะใช้เลนส์ 35mm บน APS-C หากต้องการให้ภาพกว้างเท่ากับ 50mm บน Full Frame

เรื่องมันก็มีเท่านี้ล่ะครับ

แล้วถ้าเป็น M4/3 ล่ะ? หากใช้กล้อง M4/3 แล้วอยากได้เลนส์ที่กว้างพอๆ กับเลนส์ 50mm บน Full Frame ต้องใช้เลนส์ระยะเท่าไร
ใบ้ให้นิดนึง ว่า M4/3 มีค่า Crop factor x2 ครับ

ลงกดเครื่องคิดเลขดู…

..

..

ถ้าตอบว่า 25mm แปลว่าเข้าใจเรื่องนี้แล้วครับ ยินดีด้วย 😀

แต่ถ้ายังงงๆ อยู่ ลองกลับขึ้นไปอ่านอีกทีเนอะ

กล้อง Full Frame ดีที่สุด ใช่หรือไม่?

ถ้าพูดเรื่องคุณภาพก็ใช่ครับ เพราะการที่เซ็นเซอร์รับภาพมีขนาดใหญ่ ทำให้เซลรับแสงใหญ่ตามไปด้วย ส่งผลให้ได้ภาพที่มี Noise ต่ำกว่า และให้ Dynamic range สูงกว่าด้วย

และอีกเรื่องที่กล้อง Full Frame เด่นกว่าอย่างเห็นได้ชัด คือการถ่ายรูปแบบละลายหลัง

เพราะกล้อง Full Frame นั้นไม่โดนหั่นขอบทิ้งเมื่อถ่ายภาพ ทำให้เข้าใกล้ตัวแบบได้มากกว่าบนเลนส์ระยะเดียวกัน
หรือก็คือ ถ้ายืนที่เดียวกัน กล้อง Full Frame จะใช้เลนส์ทางยาวโฟกัสสูงกว่าได้ หรือไม่ถ้าใช้เลนส์เดียวกันก็ยังเข้าใกล้ตัวแบบได้มากกว่าเดิม
ทั้งสองตัวแปรมีผลทำให้ละลายฉากหลังได้มากขึ้น จึงถือเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ

อยากรู้เรื่องละลายหลังเพิ่ม เชิญที่นี่ —> How to ละลายหลัง ถ่ายยังไง… ไปดู !

แต่… แต่… ไม่ใช่ทุกคนที่เลือกกล้องด้วยเหตุผลเรื่องคุณภาพเสมอไป

เมื่อเทียบกับกล้องเซ็นเซอร์เล็กแล้ว กล้อง Full Frame มักจะใหญ่กว่า หนักกว่า และแพงกว่าทั้งกล้องและเลนส์
การใช้ Full Frame อาจไม่ใช่ System ที่เป็นมิตรเท่าไรกับคนที่รักความสะดวกสบายในการพกพา

และอีกเรื่องคือ กล้องเซ็็นเซอร์เล็กๆ ถ่ายมาโครและใช้เลนส์ซูมไกลๆ ได้สะดวกกว่าด้วยประโยชน์ของ Crop factor นั่นเอง

มาโครนั้นสะดวกกว่าเพราะหากเทียบกับ Full Frame กล้องตัวคูณจะโดนครอปขอบออก ทำให้ภาพวัตถุนั้นใหญ่เต็มเฟรมมากขึ้น แม้จะใช้เลนส์เดียวกันที่จ่อได้ใกล้เท่าๆ กันก็ตาม

กล้องระบบ M4/3 อย่าง Olympus และ Panasonic ใช้ถ่ายแมลงเล็กๆ ได้ง่ายมากเพราะข้อดีของกล้องเซ็นเซอร์เล็ก

ส่วนการส่องไกลนั้นการใช้ประโยชน์ของการครอปออก ทำให้เหมือนใช้เลนส์ที่ทางยาวโฟกัส(mm)สูงขึ้นนั่นเอง

อย่างเช่นเลนส์ 70-300mm หากใช้บนกล้อง Full Frame จะได้ซูมไกลที่สุด 300mm
แต่ถ้าเอาเลนส์เดิมมาใส่ APS-C จะได้มุมภาพเทียบเท่าระยะ 450mm เลยทีเดียว

ความสะดวกสบายของกล้องตัวคูณมันสูงกว่าเยอะ~

ทีนี้ จะเลือกกล้อง Full Frame หรือ APS-C หรือ M4/3 หรือจะเลือกเซ็นเซอร์ไซส์ไหน ก็ขึ้นกับการใช้งานของแต่ละคนแล้วล่ะครับ 🙂