Shutterspeed ชัตเตอร์สปีด คืออะไร…ไปดู !

สวัสดีครับ เมื่อเราอยากตั้งค่ากล้องด้วยตัวเองนั้น จะมีตัวแปร 3 ค่า ที่มีผลต่อความสว่างของภาพคือ รูรับแสง ชัตเตอร์สปีด และ ISO ซึ่งบอกเลยว่าชัตเตอร์สปีดนี่สำคัญมาก เพราะตัวมันเองนั้นควบคุมเรื่องแสง และภาพจะเบลอไม่เบลอก็อยู่ที่พี่เขานี่แหละ!

อา… ชัตเตอร์สปีดช่างยิ่งใหญ่จริงๆ แต่เรายิ่งใหญ่กว่า เพราะเราควบคุมมันได้ !

ชัตเตอร์สปีดคืออะไร

ชัตเตอร์สปีด เรียกแบบง่ายๆ คือความเร็วชัตเตอร์ครับ ซึ่งค่าตรงนี้จะใช้บอกว่า กล้องของเรานั้นจะสับชัตเตอร์ลงด้วยความเร็วเท่าไร

โดยพื้นฐาน การเพิ่มลดชัตเตอร์สปีดมีผลโดยตรง 2 เรื่อง คือ

  • ปริมาณแสงที่ผ่านเข้ากล้อง
  • ความสามารถในการหยุดวัตถุที่เคลื่อนไหว

วิธีดูการตั้งค่าชัตเตอร์สปีด

หากคุณเคยตั้งค่าชัตเตอร์สปีดด้วยตัวเองไม่ว่าจะ Mode S(Tv) หรือ Mode M จะเห็นว่าฝั่งซ้ายจะเปิดชัตเตอร์นาน ฝั่งขวาลั่นชัตเตอร์เร็ว ตามนี้

[ช้า] Bulb -> 30″ -> 15″ -> 8″ -> 1″-> 1/2 -> 1/10 -> 1/60 -> 1/250 -> 1/2000 [เร็ว]

เมื่อใช้ชัตเตอร์ช้า เราจะได้แสงมากขึ้น แต่โอกาสที่ภาพจะเบลอก็สูงขึ้น

เมื่อใช้ชัตเตอร์เร็ว จะได้แสงน้อยลง แต่พอชัตเตอร์เร็วขึ้นจะจับความเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น เราจะมาดูตัวอย่างที่หัวข้อถัดไป

ลืมบอกไปเรื่องหนึ่ง ชัตเตอร์สปีดจะใช้เป็นตัวเลขห้อยท้ายด้วยตัว s เสมอ เพราะเรานับชัตเตอร์เป็นวินาที(second) อย่างเช่น

  • 4s = 4 วินาที
  • 1s = 1 วินาที
  • 1/50s = 1/50 วินาที

และอย่าสับสนระหว่างเลขตัวเต็มกับเลขที่เป็นเศษส่วน เลขที่เป็นเศษส่วนจะมีสปีดที่เร็วกว่านะครับ(1s ช้ากว่า 1/2s) ลองปรับชัตเตอร์แล้วถ่ายเล่นๆ ดูจะเข้าใจง่ายขึ้น

แสงมากแสงน้อย ชัตเตอร์สปีดสั่งได้

ชัตเตอร์สปีดนั้นมีผลกับแสงโดยตรง โดย

[แสงมาก] 30″ -> 15″ -> 8″ -> 1″-> 1/2 -> 1/10 -> 1/60 -> 1/250 -> 1/2000 [แสงน้อย]

อธิบายง่ายๆ คือหากคุณใช้ค่ามาตรฐานคือ 1/60 วินาที ถ้าปรับให้สปีดช้าลงเป็น 1/20 1/10 หรือช้าหลักวินาทีอย่าง 1″ 4″ คุณจะได้แสงเข้ากล้องมากขึ้นเรื่อยๆ ตามเวลา

แต่ถ้าปรับสปีดเร็วขึ้นเรื่อยๆ จาก 1/60 ไปที่ 1/100 1/125 1/250 1/2000 กล้องที่สับม่านชัตเตอร์เร็วขึ้นจะทำให้เราได้แสงเข้าภาพน้อยลงด้วย…หรือเรียกว่าภาพมืดลงนั่นแหละ

ตัวอย่างคือภาพด้านบน จะเห็นว่าเมื่อเราใช้ชัตเตอร์สปีดต่ำ(ชัตเตอร์ช้า เปิดหน้ากล้องนาน) ภาพที่ได้จะสว่างขึ้น

สิ่งที่เคลื่อนไหวจะชัดหรือเบลอ ชัตเตอร์สปีดก็มีผล

อีกเรื่องที่ชัตเตอร์สปีดมีผลโดยตรง คือการจับความเคลื่อนไหวของสิ่งที่อยู่ในภาพ โดยที่

[ช้า] 30″ -> 15″ -> 8″ -> 1″-> 1/2 -> 1/10 -> 1/60 -> 1/250 -> 1/2000 [เร็ว]

“Motion blur คือชื่อที่ใช้เรียกสิ่งที่เบลอจากชัตเตอร์สปีดที่ต่ำเกินไปจนจับความเคลื่อนไหวไม่ทัน”

ภาพด้านบนเป็นภาพฟองอากาศในตู้ปลา

จากภาพ จะเห็นว่าภาพขวาสุดที่ใช้ชัตเตอร์สปีดสูง 1/1000s หยุดความเคลื่อนไหวได้ทัน เราจึงได้ภาพฟองน้ำเป็นเม็ดๆ และเมื่อค่อยๆ ลงสปีดลง กล้องไม่สามารถจับความเคลื่อนไหวนั้นทัน วัตถุนั้นๆ ก็จะเบลอมากขึ้นเรื่อยๆ จนภาพเห็นฟองน้ำไหลเป็นเส้นๆ แบบภาพซ้ายสุดที่ใช้ชัตเตอร์ช้าถึง 1 วินาที

ยิ่งสิ่งนั้นเคลื่อนไหวเร็วเท่าไร เราก็ต้องปรับชัตเตอร์ให้เร็วขึ้นตามเพื่อป้องกัน Motion blur

ภาพนี้จะดูซับซ้อนหน่อย ซึ่งผมถ่ายด้วยสปีด 1/2s ทำให้จับการเคลื่อนไหวของคนที่เดินอยู่ไม่ทัน คนจึง “เบลอ” เพราะสปีดเพียง 1/2s จับการเคลื่อนไหวของคนในภาพไม่ทัน

แต่รถตุ๊กตุ๊กกลับชัดเพราะจอดอยู่นิ่งๆ ซึ่งสปีดเพียง 1/2s เพียงพอต่อการหยุดรถ(ที่จอดนิ่งๆ)อยู่แล้ว รถในภาพจึงชัด จะเห็นว่าในภาพเดียวกันก็ถ่ายให้บางอย่างชัด บางอย่างเบลอได้ ขึ้นกับความเร็วของชัตเตอร์ล้วนๆ เลย

แล้ว… ชัตเตอร์เท่าไรถึงจะหยุดการเคลื่อนไหวได้

ตรงนี้เป็นความเร็วคร่าวๆ นะครับ

  • หากต้องการหยุดนกที่บินโฉบปลาบนผิวน้ำ อาจต้องใช้สปีดสูงถึง 1/2000s
  • รถวิ่งผ่านกล้องเร็วๆ อาจต้องใช้ชัตเตอร์เร็วถึง 1/500s
  • ไอดอลเต้น ใช้ที่ 1/250s
  • คนเดินบนถนน ใช้ที่ 1/125s
  • นางแบบยืนนิ่งๆ แค่ 1/60s ก็พอ
  • ถ่ายตึก สิ่งก่อสร้าง ชัตเตอร์ช้าแค่ไหนก็ได้

เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวกับชัตเตอร์สปีด

Shutter B (Blub)

ชัตเตอร์ B นั้น เราจะหาเจอในกล้องด้วยการปรับชัตเตอร์สปีดให้ลากนานขึ้นเรื่อยๆ จนเกิน 30s เราจะเห็นชัตเตอร์ B (Blub) อยู่สุดท้าย

กล้องบางรุ่นจะใช้เครื่องหมาย ” หลังตัวเลข หมายถึงวินาที เช่น 30″ คือ 30 วินาที

หน้าที่ของ Blub คือ “เปิดชัตเตอร์นานเท่าไรก็ได้” ซึ่งใช้ได้ 2 แบบ คือ

  1. กดปุ่มชัตเตอร์ค้างไว้กล้องจะเริ่มถ่าย ปล่อยปุ่มคือหยุดถ่าย
  2. ใช้รีโมทหรือสายลั่นชัตเตอร์ กดครั้งแรกกล้องจะเริ่มถ่าย กดอีกทีเพื่อหยุดถ่าย

ชัตเตอร์ B มีประโยชน์มากถ้าเราอยากลากชัตเตอร์มากกว่า 30 วินาที หรือบางกรณีที่ไม่รู้จะเปิดชัตเตอร์กี่วินาที เช่น ถ่ายพลุ

เพราะชัตเตอร์สปีดต่ำ ภาพถึงเบลอ

ไม่ได้เบลอจากความเคลื่อนไหว(Motion blur) อย่างหัวข้อก่อนนะ แต่นี่คือภาพเบลอจากการถือกล้องของเราเอง

ปกติแล้วเราจะมีสูตร 1/ทางยาวโฟกัส ที่เป็นมาตรฐานว่าถ้าเราใช้เลนส์นี้ เราต้องใช้ชัตเตอร์สปีดขั้นต่ำเท่าไร…เพื่อที่จะถือกล้องได้โดยที่ภาพไม่เบลอ
(เช่น ใช้เลนส์ 50mm ก็ต้องใช้ชัตเตอร์สปีดขั้นต่ำที่ 1/50 หรือใช้เร็วกว่านี้ก็ได้)

ซึ่งถ้าเราใช้เลนส์คิต หรือเลนส์ช่วงนอมอล เลนส์ไวด์ก็คงไม่มีปัญหา แต่ถ้าใช้เทเลซูมอย่าง 200mm เราจะดันสปีดไป 1/200 บางทีก็ได้ภาพมืดไปหน่อย

เราถึงมี “กันสั่น”สำหรับสถานการณ์นี้ โดยกันสั่นจะทำให้เราใช้ชัตเตอร์สปีดต่ำลงได้โดยภาพไม่เบลอ (กันสั่นบางรุ่นให้เราถือกล้องที่ 1/60 ได้แม้เราใช้เลนส์ 300mm)

หรือถ้าอยากได้แบบนิ่งแน่นอน ผมแนะนำให้ใช้ขาตั้งกล้องครับ พอตั้งกล้องไว้นิ่งๆ เราจะลากชัตเตอร์นานแค่ไหนก็ได้

แล้ว… ตอนไหนต้องใช้สปีดสูง ตอนไหนใช้สปีดต่ำล่ะ

ต้องถามตัวเองก่อน ว่าเรากำลังถ่ายอะไรอยู่ และอยาก “หยุด” ความเคลื่อนไหว หรืออยากให้สิ่งนั้น “ไหล” ออกไปเยอะๆ

ใช้สปีดประมาณ 1/125s ก็หยุดคนที่เดินได้แล้ว

ถ้าต้องการหยุดความเคลื่อนไหว ตั้งสปีดขั้นต่ำให้สัมพันธ์กับสิ่งที่เคลื่อนไหวอยู่ เช่นคนเดินใช้ขั้นต่ำที่ 1/125s แต่ถ้าไอดอลเต้นต้อง 1/250s 1/500s หรือถ้าถ่ายรถวิ่งเร็วๆ ถ่ายนก อาจต้องถึง 1/1000s จะต้องใช้ชัตเตอร์เร็วแค่ไหนขึ้นกับว่าสิ่งนั้นๆ เคลื่อนที่เร็วแค่ไหนด้วย

แต่ถ้าต้องการลากสิ่งนั้นๆ ให้เบลอ อย่างเช่นถ่ายน้ำตาไหลเป็นเส้น ถ่ายไฟรถเป็นเส้น หรือถ่ายพลุ ก็ต้องลากชัตเตอร์นานๆ หน่อย ยิ่งลากสปีดนานยิ่งได้เส้นยาวขึ้น

(อย่าลืมนะว่าชัตเตอร์สปีดต่ำเกินไปอาจทำให้ภาพเบลอถ้าถือด้วยมือ ถ้าชอบลากชัตเตอร์นานๆ อย่าลืมหาที่ตั้งกล้อง หรือใช้ขาตั้งกล้องด้วยล่ะ)

สรุป

ชัตเตอร์สปีด เป็นชื่อที่ทำให้เราได้ภาพที่หลากหลายตามสถานการณ์เท่าที่คุณจะนึกออก ตราบเท่าที่คุณรู้ว่าภาพนี้ควรลากชัตเตอร์นานขนาดไหน

หน้าที่หลักๆ ของชัตเตอร์สปีดมีแค่ 2 เรื่องเท่านั้นเอง นั่นคือ

  • ควบคุมปริมาณแสงที่เข้ากล้อง
  • หยุดความเคลื่อนไหวของวัตถุ

ซึ่งความเร็วชัตเตอร์ที่ต่างกันนั้นอาจทำให้ภาพเบลอจนดูไม่ได้ หรือสร้างสรรค์ภาพถ่ายดีๆ ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าได้เลย ไม่ว่าจะลากไฟรถเป็นเส้น ลากน้ำจากน้ำตกให้เป็นเส้น หรือ Stop motion หยุดความเคลื่อนไหววัตถุที่เร็วมากๆ ล้วนเป็นภาพที่ดูตื่นตาตื่นใจทั้งนั้น

เรียกว่าถ้าใครใช้เจ้าชัตเตอร์นี่ได้ เราจะมีโอกาสสร้างสรรค์ภาพถ่ายได้มากขึ้นแน่นอนเลยล่ะ ลองคุมชัตเตอร์สปีดดูนะครับ 😉

เรื่องที่คุณอาจสนใจ